โครงการวิจัยที่สิ้นสุดแล้ว
ปีงบประมาณ
2547
ชื่อโครงการภาษาไทย
โครงการปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่เพื่อทดแทนการนำเข้า
ชื่อโครงการภาษาอังกฤษ
Layer Breeding Improvement for Market Competitiveness
เนื้อหาเผยแพร่
     สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ โครงการปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่เพื่อทดแทนการนำเข้า แก่กรมปศุสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการมีเป้าหมายที่จะสร้างพันธุ์ไก่ไข่ที่เป็นต้นพันธุ์ (GGP) พันธุ์หลัก (GP) และพันธุ์ขยาย (PS) เพื่อนำไปผลิตลูกไก่ไข่ ที่เป็นลูกผสมไฮบริด ที่สามารถนำไปผลิตไข่บริโภคภายในประเทศ และพันธุ์ใหม่ที่ได้จะเป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของเกษตรกรทั่วไปภายใต้โรงเรือนเปิด คาดว่าจะสามารถทดแทนการนำเข้าได้เป็นบางส่วน
     จากการศึกษาวิจัย พบว่าสามารถปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่ที่เป็นต้นพันธุ์ (GGP) พันธุ์หลัก (GP) และพันธุ์ขยาย (PS) ได้จำนวน 4 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็นสายพ่อพันธุ์ 2 สาย คือ Line A และ Line B สายแม่พันธุ์ 2 สาย คือ Line C และ Line D เมื่อผสมข้ามระหว่างสายพ่อและแม่ จะทำให้ได้พันธุ์ขาย (PS) สำหรับผลิตไก่ไข่ได้อย่างน้อย 3 พันธุ์ คือ AC, CA และ BD การให้ผลผลิตของ GP หนึ่งแม่ สามารถให้ลูกที่เป็น PS ได้จำนวน 80-90 ตัวต่อปี PS 1 ตัว ให้ลูกที่เป็นไก่ไข่ได้ 90-100 ตัว ซึ่งไม่แตกต่างจากพันธุ์นำเข้า
     ไก่ไข่พันธุ์ AC และ CA ให้ผลผลิตไข่เฉลี่ยปีละ 247-277 ฟอง ไข่มีขนาด 56 กรัม ผลผลิตยังต่ำกว่าพันธุ์นำเข้า 5% คุณภาพภายในของไข่ไก่สูงกว่าพันธุ์นำเข้า จากการทดสอบพันธุ์ร่วมกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัด น่าย แพร่ และบุรีรัมย์ พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจกับไก่ไข่พันธุ์ AC และ CA โดยเฉพาะพันธุ์ CA มีขนลำตัวยาว คอลาย รูปร่างสวยงาม ส่วนไก่ไข่พันธุ์ BD ซึ่งเป็นพันธุ์สังเคราะห์ มีพันธุกรรมบางส่วนจากพันธุ์ต่างประเทศ ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์นำเข้า ลำตัวเล็ก ไข่ดกปีละ 290 ฟอง ไข่ฟองใหญ่ 60 กรัม นอกจากนี้ GGP และ GP ทั้ง 4 สาย ยังมีคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่สำคัญประการหนึ่งคือ มียีน B21 อยู่ในฝูงไก่ในสัดส่วน 68% ซึ่งค่อนข้างสูง B21 เป็นยีนซึ่งทางวิชาการทราบว่าเกี่ยวเนื่องกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคมาเรกซ์ในไก่พันธุ์ไข่และโรคที่มักจะเกิดกับสัตว์ปีกทั่วๆไป ดังนั้นจึงทำให้ลูกไก่แข็งแรงและเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และเลี้ยงได้ดีในโรงเรือนเปิด

ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลงานวิจัย ได้พันธุ์ไก่ไข่พันธุ์ใหม่เพื่อนำไปผลิตลูกไก่ไข่ที่เป็นลูกผสมไฮบริด สามารถนำผลิตไข่บริโภคภายในประเทศ และพันธุ์ใหม่ที่ได้จะเป็นพันธุ์ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของเกษตรกรทั่วไปภายใต้โรงเรือนเปิด สามารถทดแทนการนำเข้าได้เป็นบางส่วน หากได้มีการส่งเสริมเลี้ยงอย่างกว้างขวาง ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ ใช้วัสดุเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่น