สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนากระบวนการผลิตไฮเทนจากวัตถุดิบชีวมวลประเภทน้ำตาลโดยใช้น้ำอ้อยเป็นสับเสตรทต้นแบบ” แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตไฮโดรเจนและมีเทนจากวัตถุดิบชีวมวลประเภทน้ำตาลโดยใช้น้ำอ้อยเป็นสับสเตรทต้นแบบ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งแก๊สไฮเทน (hythane) ที่สามารถใช้ทดแทนแก๊สธรรมชาติ (NGV) ได้
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงการผลิตไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่องจากน้ำอ้อยในถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบถังกวนสมบูรณ์ขนาด 5 ลิตร ซึ่งได้ค่าไฮโดรเจนที่ผลิตได้สูงสุด ความเข้มข้นของไฮโดรเจน และอัตราการผลิตไฮโดรเจนสูงสุด เท่ากับ3.37 ลิตรไฮโดรเจนต่อลิตรสับสเตรท36.66% และ 20.18 ลิตรไฮโดรเจนต่อลิตรต่อวันตามลำดับและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตมีเทนจากน้ำทิ้งที่เหลือจากระบบการผลิตไฮโดรเจน โดยกลุ่มจุลินทรีย์ไร้อากาศแบบผสมปัจจัยที่ศึกษาได้แก่ ค่าอัตราส่วนอาหารต่อเซลล์ ความเข้มข้นของนิเกิล และความเข้มข้นของโคบอลท์ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สภาวะที่เหมาะสมที่ให้ค่าผลได้มีเทน และประสิทธิภาพการกำจัด COD สูงสุด คือ ที่ค่าอัตราระหว่างอาหารต่อเซลล์ เท่ากับ 1.06 ค่าความเข้มข้นของนิเกิลเท่ากับ 0.53 มิลลิกรัมต่อลิตร และค่าความเข้มข้นของโคบอลท์เท่ากับ 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งได้ค่าผลได้มีเทนสูงสุด และค่าประสิทธิภาพการกำจัด COD สูงสุด เท่ากับ 86มิลลิลิตรต่อกรัมของแข็งระเหยง่าย และ 93.94% ตามลำดับ ผลการทดลองดังกล่าวได้นำไปขยายขนาดการผลิตมีเทนในถังปฏิกรณ์ชีวภาพขนาด 25 ลิตร ได้มีเทนสูงสุดเท่ากับ 443มิลลิลิตรมีเทนต่อกรัมซีโอดี ค่าอัตราการผลิตมีเทนเท่ากับ 1.62ลิตรต่อลิตรต่อวัน และเปอร์เซ็นต์มีเทนเท่ากับ 57.94%ผลการทดลองหลังจากการเชื่อมระบบการผลิตไฮโดรเจน และมีเทนเข้าด้วยกันพบว่าองค์ประกอบของไฮเทนมีเปอร์เซ็นต์ไฮโดรเจนเท่ากับ16.49% มีเทนเท่ากับ 31.86% และคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 51.60% ในการทดลองสุดท้ายได้ใช้ไฮเทนซึ่งมีสัดส่วนการผสมของไฮโดรเจนผสมรวมกับแก๊สธรรมชาติ เพื่อทดสอบกับการเดินเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าขนาด 400 วัตต์ พบว่าสามารถใช้กับเครื่องยนต์ทดสอบได้เป็นอย่างดีและสามารถจ่ายภาระไฟฟ้า 400 วัตต์ได้ ถึงแม้รอบของเครื่องยนต์จะไม่นิ่งสม่ำเสมอเท่ากับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ แต่ความสามารถในการทำงานของเครื่องยนต์และความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานได้ ถือว่าการใช้ไฮเทนที่ปรับปรุงส่วนผสมของไฮโดรเจน มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับน้ำมันเชื้อเพลิงปกติมาก
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้คือ ได้ต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตแก๊สชีวภาพผสมไฮโดรเจนและมีเทน (ไฮเทน) จากวัตถุดิบชีวมวลประเภทน้ำตาล โดยใช้น้ำอ้อยเป็นสับสเตรทต้นแบบ โดยผลิตแบบต่อเนื่องในถังปฏิกรณ์ชีวภาพที่ใช้เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้ใช้แก๊สธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหรือบรรเทาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต