สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ระยะที่ 1” แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อลดปัญหาเรื่องลำไยในฤดู (กรกฎาคม-สิงหาคม) ล้นตลาด โดยการกระจายการผลิตลำไยออกไปนอกฤดูผลิตปกติในพื้นที่ที่มีความเหมาะ โดยกำหนดเป้าหมายให้มีสัดส่วนลำไยในฤดูต่อนอกฤดูของพื้นที่ทดสอบ เท่ากับ 60:40 2) เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายผลผลิตลำไยในพื้นที่ทดสอบ สามารถพัฒนาคุณภาพเป็นชั้นเกรด 1 + 2 หรือ AA + A มากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตที่ผลิตได้ในพื้นที่ทดสอบ 3) เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปัญหาการรวมกลุ่มกันผลิตของเกษตรกรตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้รูปแบบ หรือโมเดลในการส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดูหรือลำไยคุณภาพ 4) เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตลำไยนอกฤดู จัดทำเป็นชุดเทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับใช้ในแต่ละพื้นที่ทดสอบ 5) พัฒนาสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการเผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้เหมาะสมกับกลุ่มและพื้นที่การผลิต 6) เพื่อพัฒนารูปแบบความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมและพัฒนารูปแบบการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตลำไยที่มีคุณภาพหรือขยายพื้นที่การผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม และ 7) เพื่อติดตามการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการถอดบทเรียนองค์ความรู้เรื่องการรวมกลุ่มการผลิตของเกษตรกร
จากการศึกษาวิจัย พบว่า การศึกษาเรื่องการตลาดและต้นทุนการผลิตในตลาดพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน) มีความต้องการลำไยสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมและธันวาคม และมีความต้องการต่ำสุดอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถ้ารวมความต้องการของตลาดทั้ง 3 จังหวัด พบว่า ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่มีความต้องการสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 58 รองลงมาคือตลาดในจังหวัดลำพูน ร้อยละ 37 และน้อยที่สุดคือตลาดในจังหวัดเชียงราย ร้อยละ 5 ส่วนต้นทุนการผลิตจะเป็นการศึกษาเฉพาะต้นทุนที่อยู่ในรูปเงินสด ที่กำหนดศึกษาเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าสารชักนำการออกดอก ค่าตัดแต่งกิ่ง และค่าตัดแต่งช่อผล ในปี 2560 พบว่าต้นทุนที่เป็นเงินสดดังกล่าวเรียงลำดับความสำคัญจากสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้ ค่าตัดแต่งกิ่งร้อยละ 38 รองลงมาคือต้นทุนค่าสารชักนำการออกดอกร้อยละ 24 และค่าตัดแต่งกิ่งลำไยร้อยละ 20 และสุดท้ายคือค่าตัดแต่งช่อผลต่ำสุดร้อยละ 18 จากความต้องการของตลาดดังกล่าว เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตโดยเลือกราดสารเพื่อชักนำให้ลำไยออกดอกในช่วงเดือนมกราคม ถ้าต้องการนำไปขายในช่วงเดือนสิงหาคม และราดสารในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน หากต้องการนำไปขายในช่วงเดือนธันวาคม สำหรับการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะและปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มโดยมีเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่ง การราดสารเพื่อชักนำให้ออกดอก และการตัดแต่งช่อผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไย นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีรองที่ส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดการเรื่องน้ำและธาตุอาหารพืช และการจัดการเรื่องโรคและแมลง ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ ได้ถูกจัดทำเป็นสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อเหมาะสมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ แผ่นพับ โปสเตอร์ คู่มือฉบับพกพา e-book และคู่มือการผลิตลำไยนอกฤดูและการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลำไย ซึ่งได้มีการเผยแพร่ไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ กลุ่มเกษตรกรที่เข่าวมโครงการ และบุคคลทั่วไปตลอดระยะเวลาที่ดำเนินงานของโครงการ ส่วนการศึกษาต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นโดยการประชุมชี้แจงกลุ่มเกษตรกร และรับสมัครสมาชิกกลุ่มที่พร้อมจะให้ความร่วมมือกับโครงการ จากนั้นดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การคัดเลือกองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอด 2) การเลือกกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 3) อบรมให้ความรู้ 4) สาธิตหรือฝึกปฏิบัติ 5) ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ 6) การให้ทดลองทำหรือปฏิบัติในแปลงของตัวเอง ซึ่งพบว่าเกษตรกรในโครงการที่ผ่านขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว พบว่าสามารถรับเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการผลิตลำไยของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการติดตามการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอด พบว่าเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างมีการรับเทคโนโลยีเรื่องการตัดแต่งกิ่งประมาณร้อยละ 50 ส่วนการชักนำให้ออกดอกนอกฤดู พบว่าเกษตรกรทั้งหมดมีการใช้สารที่เหมาะสมและสามารถชักนำให้ออกดอกได้ ในขณะที่การส่งเสริมเรื่องการตัดแต่งช่อผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างจะใหม่สำหรับเกษตรกรมีการนำไปใช้ร้อยละ 44 แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดโครงการเป็นที่น่าพอใจ โดยหลังสิ้นสุดการดำเนินงานมีกลุ่มเกษตรกรที่ไม่อยู่ในโครงการได้สนใจเข้าร่วมการผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ผลิตลำไยนอกฤดูรวม 2,570 ไร่ เทียบกับเมื่อเริ่มต้นโครงการ 1,636 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 และมีคุณภาพผลผลิต AA+A ของเกษตรกรในกลุ่มเฉลี่ยร้อยละ 79 ในปีแรกที่เข้าโครงการและเพิ่มเป็นร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่มีการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากแต่เดิมเป็นการผลิตที่ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกับทางตลาดมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเกษตรกรมีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตลำไยที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโครงการนี้
ประโยชน์ที่จะได้รับของโครงการนี้คือ 1) ได้เทคโนโลยีการผลิตลำไยคุณภาพนอกฤดูและการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลำไย ได้แก่ เทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่ง การราดสารเพื่อชักนำให้ออกดอก การตัดแต่งช่อผล การจัดการเรื่องน้ำและธาตุอาหารพืช และการจัดการเรื่องโรคและแมลง 2) ได้ต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกร และ 3) ได้สื่อรูปแบบต่างๆ ได้แก่ แผ่นพับ โปสเตอร์ คู่มือฉบับพกพา e-book และคู่มือการผลิตลำไยนอกฤดูและการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตลำไย