สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบและสร้างเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด และพัฒนาเส้นใยผลตาลโตนดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษพื้นบ้าน ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา” แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรพงค์ บุญช่วยแทน เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ต้นแบบเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยจากผลตาลโตนด สำหรับผลิตเนื้อผลตาลโตนดและผลิตเส้นใยผลตาลโตนดเพื่อผลิตกระดาษที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้และใช้ในงานหัตถกรรม งานบรรจุภัณฑ์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
จากการศึกษาวิจัย พบว่าการทดสอบประสิทธิภาพการแยกเนื้อผลตาลโตนดด้วยเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด พบว่าการแยกเนื้อผลตาลโตนดโดยใช้ความเร็วรอบสูงที่ 250-400 รอบต่อนาที ใช้ลูกตาลโตนด 10-20 กิโลกรัม น้ำ 10-20 ลิตร และเวลา 10-30 นาที ส่วนผลการทดสอบประสิทธิภาพการแยกเส้นใยผลตาลโตนดด้วยเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด พบว่าในเวลา 5 นาที สามารถแยกเส้นใยผลตาลโตนดได้เฉลี่ย 0.571 กิโลกรัม กระดาษเส้นใยตาลโตนดที่ได้จากการทดลอง นำกระดาษไปทดสอบสมบัติของกระดาษสา ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำหนักของกระดาษสา การดูดซึมน้ำของกระดาษสา และความต้านทานแรงดึงของกระดาษสา จากผลการทดสอบพบว่าอัตราส่วนที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิตเป็นกระดาษสาจากการทดสอบทั้ง 10 อัตราส่วน คือ อัตราส่วน 60:40 มีผลคะแนน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนมากสุด เท่ากับ 11.6 คะแนน มีค่าน้ำหนัก เท่ากับ 172.30 g/m2 ค่าการดูดซึมน้ำ เท่ากับ 14.83 วินาที คิดเป็น 5.68 % และมีค่าความต้านทานแรงดึงของกระดาษสามากสุด เท่ากับ 2.97 MPa
ประโยชน์ที่จะได้รับของโครงการนี้คือ ได้ต้นแบบเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยจากผลตาลโตนด และต้นแบบกระดาษจากผลตาลโตนด